(อ่านแล้ว 5632 ครั้ง)
วันที่ 24 ก.ย.65 ชั้น 9 อาคารสยามสเคป กรุงเทพฯ นับเป็นวันแรกที่ทุกคู่ที่ลงทะเบียนร่วมงานได้มาเจอกันใน “Thailand Talks” ปี 2 สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ คนเห็นต่างมาคุยกัน ซึ่งครั้งนี้ถือว่าพิเศษกว่าครั้งแรก เพราะมีคู่เห็นต่างมาโชว์ในงาน 2 คู่ ถือเป็นคู่เอกของงานก็คือ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ กับ เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กับ จ๊อบ-สามารถ เจนชัยจิตรวนิช พูดคุยกันเรื่อง การเมือง การศึกษา สวัสดิการ อนาคตประเทศไทย ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ แบบตัวต่อตัว ความคิดต่อความคิด โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน เพจ Thailand Talks, The Active
คุณพิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation) เปิดเผยว่า Thailand Talks เป็นแพลตฟอร์ม หรือกลไกใหม่ที่ไร้คนกลาง มีเฉพาะแค่คู่เห็นต่างมานั่งคุยกันแบบตัวต่อตัว พัฒนาต่อยอดมาจาก โมเดลจาก My Country Talks เยอรมนี ซึ่งเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกพยายามใช้วิธีนี้ในการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างได้มาเจอกัน
สำหรับประเทศไทย จัดงาน เป็นครั้งที่ 2 โดยพบว่า ผลลัพธ์จากปีที่ผ่านมา สอดรับกับงานวิจัยจากหลายประเทศ ที่พบว่า คนเห็นต่างไม่ได้แตกต่างกันสุดขั้ว บางคู่มีความเห็นคล้ายกันในหลายประเด็น โดยครั้งนี้จะถูกถอดบทเรียนปรับปรุงในอนาคต ด้วยเชื่อว่า การเปิดพื้นที่ลักษณะนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมล็ดพันธุ์ความเห็นต่างให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย และกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวได้
และงานนี้คงพลาดไม่ได้สำหรับคู่หยุดโลกที่นำความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และฝีมือในการทำงานการเมืองที่ผ่านมาร่วมพูดคุยเห็นต่าง คือคุณ ช่อ พรรณิการ์ และ คุณจ้อบ สามารถ “ ซึ่ง ทั้ง 2 คนตอบคำถามตรงกันแทบทุกข้อยกเว้นคำถาม ข้อที่ 7 คือ “การแสดงออกควรมาพร้อมกาลเทศะหรือไม่ โดย ช่อ-พรรณิการ์ ตอบว่า ไม่ใช่ ขณะที่ สามารถ ตอบว่า ใช่
โดย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช กล่าวว่า คนไทยมีรากเหง้า วัฒนธรรม อยากจะประท้วงก็สามารถแก้ผ้า โดยไม่เคารพสถานที่ ก็ต้องถามว่าเหมาะสมไหม อีกทั้ง เรามีสิทธิจะพูดแสดงความคิดเห็นได้ โดยคำว่าเหมาะสม จะมีสังคมเป็นตัวกำหนดว่า ใช่หรือไม่
สังคมมีกฎหมาย มีกติการ่วมกัน ไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจ เป็นเรื่องของกติกา เช่น เพศสภาพ สมัยก่อนคนรักเพศเดียวกันถูกประหาร การทำอะไรต้องไม่ละเมิดคนอื่น จะระบุว่าเป็นร่างกายของฉันแต่อีกฝั่งก็จะบอกว่าตาเห็น เกิดความขัดแย้งโดยสภาพ ทำแล้วถูกจับดำเนินคดี ประเด็นนี้ต้องมาสู่การตกผลึกร่วมกันของสังคมเพื่อความยินยอม
“ไทยมีรากเหง้า วัฒนธรรม จะประท้วงก็สามารถแก้ผ้า โดยไม่เห็นด้วยกับการไม่เคารพสถานที่ต้องถามว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยคำว่า เหมาะสม จะมีสังคมเป็นตัวกำหนดว่า ใช่หรือไม่
ขณะที่ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ยกตัวอย่าง กลุ่มเคลื่อนไหวสตรี รัสเซีย หรือ “FEMEN” เป็นกลุ่มที่ใช้วิธีประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอกประท้วง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะต้องการประท้วงรัฐบาลปูติน ที่มีความเป็นชาย กดขี่ ผู้หญิงจึงออกมาประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอก เพื่อจะบอกว่า ไม่ยอมรับในอำนาจด้วยการใช้ร่างกายแสดงออก
โดยต้องถามกลับว่าใครในสังคมเป็นผู้กำหนดว่า “อะไรถูก เวลา และ ถูก สถานที่” โดยยกตัวอย่างโรงเรียน ผู้กำหนดความเหมาะสมส่วนใหญ่เป็นครู ไม่ใช่นักเรียนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโรงเรียน สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดความเหมาะสมโดยผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ ดังนั้น การปล่อยให้กาลเทศะ ครอบงำสิทธิเสรีภาพ สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิเสรีภาพ โดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
การปล่อยให้ “กาลเทศะ” ครอบงำ “สิทธิเสรีภาพ” สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิ เสรีภาพโดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
นอกจากดู “คู่ตัวอย่าง คนเห็นต่าง” แล้ว Thailand Talks 2022 ยังเป็นพื้นที่ “คนเห็นต่าง” ได้มา “จับคู่คุย” โดยครั้งมี ผู้สนใจเข้าลงทะเบียนทั่วประเทศ 298 คน 149 คู่ เฉพาะที่ลงทะเบียนจาก กรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 48 คู่ ปีนี้ Thailand Talks ได้ขยายพื้นที่การพูดคุยไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, ระยอง, อ่างทอง, และภาคใต้จัดเป็นออนไลน์
ความพิเศษอีกอย่างของปีนี้ คือ ชุดคำถามที่ได้เกิดขึ้นจากการออกแบบคำถามผ่านการทำ work shop ของหลากหลายเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และสื่อสารมวลชน ออกมาเป็น 7 คำถาม โดยระหว่างการพูดคุยก็ยังมีการ์ดรูปภาพ เป็นตัวช่วยในการคิด และตอบคำถามระหว่างกัน