(อ่านแล้ว 5400 ครั้ง)
วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. ที่โรงเรียนสามโคก ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายขจรเกียรติ จินดาวรานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี และ พระอาจารย์สำราญ ถามวโร (ทองใบ) วัดบางโพธิ์ใน โฆษกสนามแข่งลูกหนู ร่วมแถลงข่าวโครงการจัดงานสืบสานประเพณีจุดลูกหนูจังหวัดปทุมธานี ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
โดยบรรยากาศภายในพิธีแถลงข่าวเริ่มด้วยขบวนแห่เพื่อสืบสวนประเพณีจุดลุกหนู นำขบวนโดยนางรำจากนักเรียนโรงเรียนสามโคก จากนั้นได้จับฉลากแบ่งสายคณะลูกหนู จำนวน 22 สาย ประกอบด้วย สาย A 1.กต.ตร.ปทุมธานี (บางพัง), 2.วัดบางคูวัดใน, 3.วัดศิริจันทาราม, 4.วัดกลางคลองสี่, 5.วัดบางหลวง, 6.วัดบางตะไนย์, 7.วัดโบสถ์, 8.วัดปัญจทายิกาวาส, 9.วัดป่ากลางทุ่ง, 10.วัดตลาดใต้, 11.วัดเพิ่มทาน ส่วนสาย B 1.วัดราษฎร์ศรัทธาราม, 2.วัดบางโพธิ์ใน, 3.วัดสะแก, 4.วัดสายไหม, 5.วัดสังลาน (ศิษย์หลวงปู่สุรินทร์), 6.วัดบ่อทอง, 7.วัดกลางคลองสาม, 8.วัดชินวราราม, 9.วัดแสวงสามัคคีธรรม, 10.วัดโสภาราม, 11.วัดบางกุฎีทอง สำหรับงานวันที่ 2 เมษายนนี้จะมีขบวนแห่ลูกหนูสุดตระการตาเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. จาก อบจ.ปทุมธานี เข้าสู่ลานลานอเนกประสงค์ตำบลเชียงรากใหญ่ จากนั้นเวลา 11.30 จุดลูกหนูลูกแรก และในเวลา 17.00 น. มีพิธีมอบถ้วยรางวัลสำหรับผู้ที่ชนะการแข่งขัน สำหรับประเพณีการจุดลูกหนู แต่เดิมจัดให้มีในงานศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ชาวปทุมธานีถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน การจุดลูกหนูเป็นลักษณะเดียวกันกับการจุดดอกไม้ไฟ หากเรียกชื่อตามสายจุดชนวน ที่ยาวคล้ายหางหนู โดยวิธีจุดลูกหนูจะใช้คบเพลิงไปจุดสายชนวนตรงท้ายตัวของลูกหนู เมื่อไฟลามเข้าไปถึงดินปืนก็จะเกิดระเบิดขับดันตัวลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอสุดลวดสลิงจะพุ่งเข้าชนปราสาททันที แล้วกรรมการจะให้คะแนนไว้ ของใครชนที่สำคัญก็จะได้คะแนนมากและได้รับชัยชนะไป สำหรับรางวัลในการจุดลูกหนู 1. พิชิตยอดปราสาทตกหล่นถึงพื้นดิน จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 15,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลผู้พิชิตยอดปราสาท 2. พิชิตเสาปราสาทโดยเสาแต่ละต้นขาดหลุดจากกันหรือถอนจากพื้นดิน จำนวน 12 ต้นๆ ละ 1,000 บาท 3. พิชิตป้าย โดยลูกหนูโดนป้ายล้มถึงพื้นดิน จำนวน 200 ป้ายๆ ละ 200 บาท
ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ประเพณีจุดลูกหนูหรือจรวดมอญขอเชิญให้ท่านมาดูมาชม และฝากเชิญประชาชนทั่วประเทศหากผ่านจังหวัดปทุมธานีขอให้แวะเวียนเข้ามาชมงานประเพณีการแข่งขันจรวดมอญหรือการแข่งขันการจุดลูกหนูเป็นประเพณีหนึ่งเดียวที่มีในจังหวัดปทุมธานี ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีพยายามจัดให้ดีที่สุดเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีให้อยู่ครบถ้วนทั้งเรื่องของขบวนแห่ การตกแต่งประสาท การปักธง การแข่งขัน การมอบรางวัล เราใช้งบประมาณจัดการแข่งขันครั้งนี้ถึง 1,500,000 บาท หวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้ตื่นเต้นรวมถึงตื่นตาตื่นใจกับงานประเพณีจรวดมอญในครั้งนี้ ในส่วนของงานที่จะจัดขึ้นนั้นเราได้แนะในเรื่องของการจัดขบวนแห่ที่แสดงให้เห็นถึงประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ปกติงานจุดลูกหนูจะมีเฉพาะงานศพพระสงฆ์ที่มาพรรษาแก่กล้า แต่ครั้งนี้เราได้จัดเป็นงานประเพณีเพื่อสืบทอดก่อนประเพณีสงกรานต์ ลูกหนูทั้งหมดมีขนาด 1 เมตรกว่าขึ้นไปแล้วทำด้วยไม้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เราได้คำนึงถึงความปลอดภัยสำหรับผู้ที่มาชมการแข่งขันเรามรมาตราการต่างๆ และมีความพร้อมขอให้มาชมกันเยอะ ๆ มาดูจรวดมอญกัน
พระอาจารย์สำราญ ถามวโร (ทองใบ) วัดบางโพธิ์ใน โฆษกสนามแข่งลูกหนู กล่าวว่า จากที่มีผู้ที่มาชมการแข่งขันลูกหนูแล้วเข้าใจผิดจนไปสื่อสารแบบผิด ๆ เห็นว่ามีการเอาโลงไปตั้งแล้วจุดลูกหนูเพื่อยิงศพพระแบบนี้ไม่มี ลูกศิษย์สมัยก่อนนับถือครูบาอาจารย์สูงสุด ขนาดเผาศพขี้เถายังต้องเก็บให้หมด จีวรขี้เถาเศษกระดูกไม่มีให้ติดพื้นเลย แล้วงานลุกหนูที่ไหนจะเอาศพครูบาอาจารย์ไปยิงกลางทุ้งกลางนา การที่คนไม่รู้แล้วไปให้ข้อมูลทำให้ประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยน ซึ่งประเพณีลูกหนูจริง ๆ แล้วจัดขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีกับวัดในถิ่นนั้น ๆ ได้สืบทอดกันมาจนเริ่มหายไป จนองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีได้จัดงานเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีนี้ขึ้นมาเป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นทุกปีก่อนประเพณีสงกรานต์ และได้มีการส่งเสริมให้อยู่ยงต่อไป ฝากถึงประชาชนที่เข้ามาดูต้องเชฟตี้ตัวเองด้วยอย่าเข้าไปดูใกล้เกินไป ต้องเชื่อคณะกรรมการ เชื่อผู้จัดงานว่าอย่าเข้าไปในเขตอันตราย บางคนเข้าไปอยู่ใกล้สายลูกหนู ซึ่งในวันงานอาตมาในฐานะโฆษกสนามแข่งลูกหนูจะได้สอดแทรกธรรมะควบคู่เข้าไปด้วย นอกจากประชาชนจะได้ชมลูกหนูแล้ว ยังได้ฟังธรรมะด้วย