(อ่านแล้ว 5128 ครั้ง)
วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นประธานเปิดงาน ราชมงคลวิชาการวิศวกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 14 โดยมี รศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวรายงานการแข่งขันทักษะวิชาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ นวัตกรรม และการเรียนการสอน มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ และแข่งขันกว่า 27 รายการ
งาน ราชมงคลวิชาการวิศวกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 14 เกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาในกลุ่มเครือข่ายสถาบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมลคล ทั้ง 15 แห่ง ในการแข่งขันทักษะวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิชาการ นวัตกรรม การเรียนการสอน โดยเฉพาะนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเครือข่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ของราชมงคลทั้ง 15 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย 4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 5.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี 6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (ศาลายา) 7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) 10.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 11.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล 12.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล 13.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร 14.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ 15.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า การแข่งขันราชมงคลวิชาการวิศวกรรมระดับชาติ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือจากสถาบันเครือข่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมทร. ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย มทร.ธัญบุรี มทร.กรุงเทพ มทร.ตะวันออก มทร.พระนคร มทร.รัตนโกสินทร์ มทร.ศรีวิชัย มทร.สุวรรณภูมิ มทร.อีสาน และมทร.ล้านนา กำหนดจัดให้มีการแข่งขันราชมงคลวิชาการวิศวกรรมเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นครั้งที่ 14 โดยหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาในกลุ่มเครือข่ายสถาบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการแข่งขันทักษะวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิชาการ นวัตกรรม การเรียนการสอน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้มีเวทีในการแสดงความรู้ความสามารถด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์กิจกรรมด้านสหกิจศึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านงานประกันคุณภาพ และกิจกรรมอื่น ๆ อันจะส่งผลให้เกิดเครือข่ายวิศวกรรมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเครือข่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ มทร. สำหรับการแข่งขันราชมงคลวิชาการวิศวกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 14 ที่มทร.ธัญบุรี เป็นเจ้าภาพนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่ง ได้แสดงศักยภาพและจุดเด่นของแต่ละแห่งออกมา เป็นการพัฒนางานวิชาการทางด้านวิศวกรรมเพื่อนำสู่ชุมชนและเพื่อการเผยแพร่ชื่อเสียง ทั้งยังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่สถาบันเครือข่าย อันก่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง และคุณภาพการศึกษาในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการแข่งขันด้านวิศวกรรมศาสตร์กว่า 27 รายการแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษ การประยุกต์ใช้ทักษะทางวิศวกรรมและเส้นทางความสำเร็จวิศวกรสายปฏิบัติ โดย ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย และการเสวนาทักษะวิศวกรไทย 2023 กับการปรับตัวในโลกยุควิถีใหม่ โดย ศ.ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง
ม.ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.เวคิน ปิยรัตน์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และดร.พระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และกล่าวอีกด้วยว่า “ภูมิใจและเป็นเกียรติที่ มทร.ธัญบุรี ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับกลุ่มราชมงคลทั้ง 9 แห่ง” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ จะก่อเกิดความร่วมมือที่เข้มแข็ง เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิศวกรรมศาสตร์และศาสตร์ร่วมอื่น ๆ