(อ่านแล้ว 5789 ครั้ง)
พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยถึงการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คาถาธัมมกาย : พุทธวรรณกรรมที่ถูกลืมกับความสำคัญต่อรูปแบบการปฏิบัติของชาวพุทธในไทย-ขแมร์” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ขแมร์ศึกษา จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
โดยศูนย์ขแมร์ศึกษา ประเทศกัมพูชา ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คาถาธัมมกาย : พุทธวรรณกรรมที่ถูกลืมกับความสำคัญต่อรูปแบบการปฏิบัติของชาวพุทธในไทย-ขแมร์” โดยมีวิทยากรรับเชิญคือ คุณวรเมธ มลาศาสตร์ นักศึกษาปริญญาเอก (ทุน Otago Doctoral Scholarship) จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอทาโก้ และนักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) การบรรยายในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. จอร์น มาร์ทอน เป็นผู้ดำเนินรายการ การบรรยายในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการจัดงานในรูปแบบ on-site ในรอบ 4 ปี และได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากพระสงฆ์ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา ชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติ
ในการบรรยายในครั้งนี้ คุณวรเมธ ได้แสดงให้เห็นถึงการแพร่หลายของคาถาธัมมกายในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา มากว่า 500 ปี แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในปัจจุบัน คุณวรเมธ อธิบายว่าส่วนแรกของคาถาธัมมกาย พรรณนาส่วนต่าง ๆ ของ “พระธรรมกาย” ตั้งเเต่พระเศียรไปจนถึงพระบาท เทียบกับพระญาณและพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บทที่สองสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงรุ่งเรือง งดงามยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายด้วย “พระธรรมกาย”และสุดท้าย คือ บทรวมความที่แนะนำให้พระโยคาวจรกุลบุตร (นักปฏิบัติธรรม) ผู้มีญาณอันแก่กล้า ผู้ที่ปรารถนาเข้าถึงพระสัพพัญญุตญาณ พึงระลึกนึกถึงพระธรรมกายเนือง ๆ
ทั้งนี้ คุณวรเมธ ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการใช้คาถาธัมมกายในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้างพระพุทธรูปและพระเจดีย์ของชาวล้านนา พิธีพุทธภิเษกของกัมพูชาและลาว เป็นต้น ในการบรรยายครั้งนี้ คุณวรเมธ ได้สรุปว่าการศึกษาวิเคราะห์คาถาธัมมกายทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจความหลากหลายของการปฏิบัติของชาวพุทธในไทย-ขแมร์ รูปแบบและวิธีการที่คัมภีร์พุทธถูกประพันธ์ขึ้น และการสืบทอดคัมภีร์ธัมมกายตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงของการถาม-ตอบ วรเมธ ได้รับคำแนะนำ และคำถามดีๆ จากผู้ร่วมฟังบรรยาย ทำให้บรรยากาศของการบรรยายในครั้งนี้ดีมาก และเป็นผลดีต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถรับฟังการบรรยายย้อนหลังได้ที่