(อ่านแล้ว 5274 ครั้ง)
นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว แสดงความคิดเห็นบิ๊กตู่ ขาดคุณสมบัตินั่งนายกฯต่อหรือไม่ในปม8ปี โดยเนื้อหากล่าวว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุมพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่อย่างไรในปมแปดปีว่าครบกำหนดตั้งแต่ 24 สิงหา 2565 หรือไม่??
ประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นที่สนใจของคนไทยทั้งประเทศรวมถึงไปต่างประเทศด้วยผมคิดว่าเรื่องนี้จะพิจารณาแค่หลักรัฐศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ต้องพิจารณาร่วมกันการจะโอนเอนไปทางใดทางหนึ่งนั้นอันตรายมากๆ
ผมจะขออนุญาตไม่ก้าวล่วงไปถึงคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแต่จะย้อนอดีตให้เห็นถึงความชอบธรรมกับความถูกต้องนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพื่อจะให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้เล็งเห็นปัญหานี้ร่วมกัน
ถ้าพวกเราจำกันได้ช่วงปี พ.ศ.2556 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างปี 2547 ถึง 2556 แต่การกระทำครั้งนั้นไม่เหมือน 23 ครั้งก่อนหน้าที่เคยมีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมไปก่อนหน้าแล้ว
ผมจะย้อนไป ช่วงเวลาในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีการหนังสือเรียกประชุมด่วนนัดพิเศษในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในวาระที่สองในมาตราสองและสามในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่สภาได้เริ่มประชุมและหลังจากที่มีการประชุมอย่างยาวนานกว่า 19 ชั่วโมงประธานสภาได้สั่งให้ลงมติในวาระที่สองและสามติดต่อกันในการลงคะแนนวาระที่สาม สมาชิกผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 งดออกเสียง4. จึงมีผลให้ร่างพรบฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเวลา 4.25 นาฬิกา ทำให้เข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้รับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวางเนื่องจากความไม่ชัดเจนและมีการสับขาหลอกที่เริ่มต้นจากร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่เสนอให้นิรโทษกรรม เฉพาะการกระทำที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง หลังจากที่ผ่านการเห็นชอบรับหลักการของสภาฯ ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 แล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาก่อนเข้าสู่สภาในวาระ 2 และ 3 และคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ให้เปลี่ยนไปใช้ร่างใหม่ของนายประยุทธ ศิริพานิช รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่เรียกกันว่า “ ฉบับเหมาเข่ง สุดซอย” แทน เนื่องจากได้ขยายให้นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดีทุจริตย้อนหลังไปถึงปี 2547 ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 กล่าวหา บางคดีได้รับการพิพากษาตัดสินไปแล้ว และอีกหลายคดี ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับสุดซอยเหมาเข่งเขียนเอาไว้ว่า “การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
การแก้ไขนี้เป็นสาเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์และคัดค้านกันอย่างกว้างขวางเพราะถือว่าเป็นการออกกฏหมายเพื่อช่วย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ผมจึงอยากจะอธิบายให้เห็นว่าการออกกฏหมายนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารแต่เรื่องนี้สังคมเค้ามองว่ารู้เห็นเป็นใจกันจึงมีม็อบออกมาต่อต้านจนทำให้ไปสู่การปฏิวัติในวันที่ 22 พฤษภาคมพ.ศ. 2557
ทั้งที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นไม่ได้เป็นคนเสนอร่างนี้เข้าสู่สภาแต่เป็นสมาชิกพรรค เดียวกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ และผลได้ประโยชน์คือพี่ชายนางสาวยิ่งลักษณ์ นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้จึงทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคมพ.ศ. 2556 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ จะเห็นได้ว่าถ้าใช้อำนาจไม่ถูกต้องต่อให้ถูกวิธีการถูกช่องทางก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกใจประชาชนและสุดท้ายก็จะเกิดความวุ่นวายและก็จะมีการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งนี่คือการเมืองในอดีตผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก
ทุกวันนี้สื่อโซเชียลมีเดียรวดเร็วพ่อแม่พี่น้องประชาชนเสพข้อมูลจากโซเชียลดังนั้นเรื่องแปดปีนายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่างๆนานาจนชาวบ้านร้านตลาดเชื่อไปแล้วจะไปเปลี่ยนความเชื่อเขาเหล่านั้นคงยาก